รายละเอียดของเพลงในอัลบัม ของ ประโคมเพลง ประเลงถวาย

ศิลปินที่ร่วมโครงการทั้ง 7 คน ได้แก่ ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ทฤษฎี ณ พัทลุง ณัฐ ยนตรรักษ์ ณรงค์ ปรางเจริญ อภิสิทธิ์ วงศ์โชติ ศรสันติ์ นิวาสานนท์ และ สมเถา สุจริตกุล ได้ประพันธ์บทเพลงเพื่อแสดงความอาลัยในรูปแบบและลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน ซึ่งเพลงในอัลบัม มีดังนี้ (เรียงตามลำดับในอัลบัม)

ถวายปฏิญญา

ถวายปฏิญญา ประพันธ์ทำนองและเรียบเรียงโดย รศ.ดร. ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรี พ.ศ. ๒๕๕๑ จากบทกวีชื่อเดียวกันของ ก้องภพ รื่นศิริ ที่กล่าวถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และคำปฏิญญาของเหล่าศิลปินทั้งมวล ที่จะร่วมสรรค์สร้างผลงานเพื่อสืบสานศิลปะไม่ให้สูญหายจากแผ่นดิน รศ.ดร. ณรงค์ฤทธิ์ ได้อ่านบทกวีดังกล่าวแล้วเกิดความประทับใจ จึงถ่ายทอดเป็นบทเพลง โดยเป็นการผสมผสานระหว่างการอ่านบทกวี การบรรเลงดนตรี การขัยร้องเดี่ยว และการขับร้องประสานเสียง

L’Adieu (ทูลลา)

L’Adieu (ทูลลา) ประพันธ์และบรรเลงเปียโนโดย ณัฐ ยนตรรักษ์ิ เป็นบทเพลงแสดงความโทมนัสอย่างยิ่งต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ประกอบด้วยสามท่อน ท่อนแรกแสดงถึงความอาลัยรัก ท่อนที่สองแสดงถึงการระลึกถึงพระกรณียกิจและพระจริยาวัตรอันงดงาม ส่วนท่อนสุดท้ายแสดงถึงความเศร้าโศกเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ และนิ่งสงบในท้ายที่สุด

Eternity (นิรันดร์)

Eternity (นิรันดร์) ประพันธ์โดย ทฤษฎี ณ พัทลุง เป็นเพลงสำหรับวงเครื่องสาย และเครื่องสายเดี่ยว จำนวน ๖ ชิ้น ได้แก่ ไวโอลิน ๒ คัน วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส และปี่ชวา ทฤษฎีได้แรงบันดาลใจจากการเข้าฟังการสวดพระอภิธรรมพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยทำนองเพลงได้นำการสวดเลื่อนหลวง ซึ่งเป็นการสวดพระอภิธรรมหลวงโบราณ ประจำวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ประสมกับเสียงประโคมย่ำยามในพระราชพิธี และปี่ชวา เป็นการสื่อความหมายถึงการบอกเวลาในสวรรค์ว่าถึงเวลาที่พระองค์เสด็จสู่ภพเบื้องบนแล้ว

Lament For Cello & Orchestra

Lament For Cello & Orchestra ประพันธ์โดย อภิสิทธิ์ วงศ์โชติ เพลงนี้เน้นเชลโล เพื่อสื่อถึงความอาลัยของพสกนิกรต่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ โดยเจือบันไดเสียงแบบตะวันออก และวงดุริยางค์บรรเลงด้วยเทคนิคลดเสียง (Con Sordino) สร้างบรรยากาศความหม่นหมองให้เพลง

Pie Jesu

Pie Jesu เป็นท่อนสุดท้ายในครึ่งแรกของเพลง Requiem: Pro Matre Musicae (เพลงเรเควียมแด่พระแม่แห่งการดนตรี) ซึ่ง สมเถา สุจริตกุล ประพันธ์เพื่อแสดงความอาลัยแด่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ท่อนเพลงนี้สมเถาต้องการให้แตกต่างกับท่อนแรกในครึ่งแรกที่ชื่อ "Dies Irae" ซึ่งเป็นท่อนที่ยาว ใช้นักดนตรีมาก ส่วนท่อนนี้เป็นการขับร้องด้วยเสียงโซปราโนเดี่ยว บรรเลงประกอบด้วยวงดุริยางค์ที่มีเพียง กลุ่มเครื่องสาย ฆ้องวง เครื่องเคาะ พิณ ๒ เครื่อง และเครื่องลมไม้ ๒-๓ ชิ้น ส่วนบทร้องเป็นบทสวดภาษาละติน ใช้ในพิธีปลงศพในศาสนาคริสต์ มีเนื้อความว่า "Pie Jesu domine, dona eis requiem" (พระคริสต์เจ้าผู้ทรงพระกรุณา โปรดประทานการพักผ่อนนิรันดร์) ในส่วนการบรรเลงนั้นได้เจือสำเนียงเพลงลาว ซึ่งเป็นสำเนียงเพลงหลักสำเนียงหนึ่งในเพลงไทยเดิม ทำนองโดยรวมให้ความรู้สึกสงบนิ่ง สะท้อนถึงแนวคิดเชิงพุทธศาสนาที่ผสมผสานเข้ากับความเชื่อและประเพณีของศาสนาคริสต์

Tears of Dust

Tears of Dust ประพันธ์ทำนองและเรียบเรียงโดย ณรงค์ ปรางเจริญ ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรี พ.ศ. 2550 บทเพลงนี้เป็นเพลงสำหรับเชลโลและวงเครื่องสาย แนวคิดของเพลงเป็นการจินตนาการจากความเชื่อของคนไทยที่น้อมใจตนเองเหมือนผงธุลี เมื่อเทียบกับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ ดังจะเห็นได้จากคำแทนตัวผู้พูดเมื่อพูดกับพระเจ้าแผ่นดินว่า "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท" การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้นนำความรู้สึกโศกเศร้าโทมนัสแก่พสกนิกร เพลงนี้จึงเปรียบว่าแม้กระทั่งผงธุลีก็ยังหลั่งน้ำตา

Elegy For A Great Person

Elegy For A Great Person เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ประพันธ์ทำนองและเรียบเรียงโดย ณรงค์ ปรางเจริญ จากเนื้อร้องของ มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร และขับร้องโดย แมรี่ อึ้งรังษี เป็นเพลงบรรเลงกีตาร์ แสดงความขอบคุณที่ถ่ายทอดจากใจของคนเล็ก ๆ ที่ได้สัมผัสและซาบซึ้ง ในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

In Memorium

In Memorium ประพันธ์โดย ศรสันติ์ นิวาสานนท์ เป็นการผสมระหว่างเสียงดนตรีจริง(เสียงเดี่ยวโซปราโน ไวโอลิน เชลโล กลุ่มเครื่องลมไม้) และเสียงดนตรีประดิษฐ์ (วงดนตรีดิจิตอล) เป็นการแสดงความโทมนัสของนักประพันธ์เพลงไทยที่อยู่ต่างแดนต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ บทเพลงเริ่มด้วยเสียงกรีดร้องแลวคลี่คลายไปสู่บรรยากาศที่หม่นหมอง

แสงดาว

แสงดาว เป็นเพลงที่ประพันธ์ทำนองและเรียบเรียงโดย รศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร อีกเพลงหนึ่ง ประพันธ์สำหรับวงเครื่องสาย ถ่ายทอดความรู้สึกต่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มีพระกรุณาธิคุณต่อประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะต่อการที่พระองค์ทรงรับวงซิมโฟนีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไว้ในพระอุปถัมภ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เพลงนี้เริ่มต้นด้วยเสียงแห่งความโศกเศร้า บ่งบอกถึงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ โดยกำหนดให้เครื่องดนตรีทุกชิ้น ใช้เทคนิค Sul Ponticello ซึ่งนักดนตรีจะใช้คันชักสีในตำแหน่งใกล้หย่อง (Bridge) ของตัวซอ ทำให้ได้เสียงแปลกที่แสดงถึงบรรยากาศขมุกขมัว จากนั้น ทำนองหลักในลีลาอ่อนหวานแบบไทย ๆ จึงค่อย ๆ ลอย เข้ามา สื่อถึงใจความสำคัญของบทประพันธ์เพลง คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะทรงเป็นแสงของดาว ที่แจ่มจรัสในความทรงจำของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตลอดไป ในช่วงท้าย เสียงดนตรีจะสื่อถึง แสงสว่างที่สุกใสเป็นประกายระยิบระยับบนท้อง ฟ้าของดาวดวงนี้ จากนั้นเสียงดนตรีค่อย ๆ เบาลงทีละน้อยและจบลงอย่างสงบนิ่ง

ใกล้เคียง